คปภ. จัดพิธีถวายพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567  ณ วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง

 คปภ. จัดพิธีถวายพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567  ณ วัดป่าโมกวรวิหาร จังหวัดอ่างทอง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานผ้าพระกฐินให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เพื่อน้อมนำไปถวายแด่พระสงฆ์จำพรรษากาลถ้วนไตรมาส ณ วัดป่าโมกวรวิหาร ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ในวันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2567 โดยมี นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทาน ประจำปี 2567 ถวายแด่พระสงฆ์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนผู้บริหารจากภาคอุตสาหกรรมประกันภัย และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมพิธี 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน สำนักงาน คปภ. ประจำปี 2567 ณ วัดป่าโมกวรวิหาร ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ว่า สำนักงาน คปภ. ได้ถวายปัจจัยเพื่อสมทบองค์ผ้าพระกฐิน และเปิดโอกาสให้ผู้มีจิตศรัทธาทั้งคณะผู้บริหาร พนักงาน ลูกจ้างของสำนักงาน คปภ. ภาค/จังหวัดทั่วประเทศ ภาคอุตสาหกรรมประกันภัย หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน นักศึกษาและศิษย์เก่า วปส. รุ่นต่าง ๆ รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมถวายปัจจัยเพื่อสมทบองค์ผ้าพระกฐิน เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 6,049,002.59 บาท เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามให้มั่นคงถาวร พร้อมสืบทอดเจตนารมณ์ในการเป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลระบบประกันภัยของไทยที่ให้ความสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยให้เจริญรุ่งเรือง และเกิดความเป็นสิริมงคลแก่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมต่อไป 

ในโอกาสนี้ สำนักงาน คปภ. ได้จัดทำหนังสือที่ระลึกพิธีถวายผ้าพระกฐินพระราชทาน ซึ่งมีเนื้อหาประกอบด้วยประวัติของวัดป่าโมกวรวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย เป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดวรวิหารสังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ปัจจุบันพระศรีวิสุทธิโสภณ (สนอง เตชวีโร) เป็นเจ้าอาวาส เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์ สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เดิมเป็นวัดสองวัดที่ตั้งอยู่ติดกัน คือ วัดชีปะขาว และวัดตลาด ต่อมา สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 3 แห่งอาณาจักรอยุธยา โปรดฯ ให้รวมวัดตลาดกับวัดชีปะขาวเป็นวัดเดียวกัน พระราชทานนามว่า วัดป่าโมก สถานที่ต่าง ๆ ภายในพระอาราม พระอุโบสถ เป็นวิหารก่ออิฐ ถือปูนเครื่องบนไม้หลังคาฐานอ่อนโค้งสำเภา และวิหารเขียน ที่เล่าขานกันว่า ผนังวิหารด้านที่หันออกสู่แม่น้ำมีแท่นสูง ซึ่งเป็นแท่นที่พระมหากษัตริย์มาประทับยืน มีมณฑปพระพุทธบาท 4 รอย หอไตร ศาลเจ้าแม่ช่อมะขาม รวมทั้งสอดแทรกเนื้อหาสาระเกี่ยวกับการประกันภัยอย่างครบถ้วน อันจะเป็นประโยชน์ ต่อประชาชนในด้านวิชาการประกันภัย เพื่อศึกษาและนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงภัยให้กับตนเองและครอบครัวอย่างครบวงจร 

นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้รวมพลังภาคอุตสาหกรรมประกันภัย จัดกิจกรรม “สำนักงาน คปภ. รวมพลังภาคประกันภัย รวมใจเพื่อการศึกษา” โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน เพื่อให้ภาคธุรกิจประกันภัยได้รวมใจ เป็นน้ำหนึ่งเดียวกัน ส่งมอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และสิ่งของจำเป็น เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอนของโรงเรียน รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแรงด้านทักษะกีฬาให้กับนักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติ สำหรับสิ่งของที่บริจาค ประกอบด้วย คอมพิวเตอร์ 11 เครื่อง พัดลม 10 เครื่อง กระเป๋าเป้เด็ก 100 ชุด ชุดเครื่องเขียน 100 ชุด กระเป๋าตาข่ายอเนกประสงค์ 100 ชุด กล่องเก็บอาหาร 200 ชุด กระติกน้ำเด็ก 100 ชุด และมอบเงินบริจาคบำรุงโรงเรียนป่าโมกข์วิทยาภูมิ จำนวน 50,000 บาท และโรงเรียนชุมชนเทศบาลวัดป่าโมกข์ (นรสีห์วิทยาคาร) จำนวน 50,000 บาท เพื่อช่วยเหลือเติมเต็มโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยกิจกรรมดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของสำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัยในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และการศึกษา ควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมพัฒนาทักษะด้านการประกันภัย

 “ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน คปภ. และภาคอุตสาหกรรมประกันภัย ได้ส่งเสริมและผลักดันให้ระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารความเสี่ยง และสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชน พร้อมให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีไทยให้เจริญรุ่งเรือง ควบคู่กับการดำเนินกิจกรรม CSR เพื่อตอบแทนสังคม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน และการปลูกฝังความเป็นจิตอาสาช่วยเหลือสังคมให้แก่บุคลากรในองค์กร เพื่อร่วมกันสร้างสังคมไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเติบโตอย่างยั่งยืน และขออนุโมทนาบุญแก่ภาคธุรกิจประกันภัย บุคลากรของสำนักงาน คปภ. ตลอดจนผู้มีจิตกุศลทุกท่านที่ร่วมทำบุญใหญ่ครั้งนี้ ขอให้มีสุขภาพแข็งแรงและความสุขความเจริญยิ่งขึ้นไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

ข่าวเกี่ยวข้อง